Last updated: 25 ก.ค. 2567 | 1687 จำนวนผู้เข้าชม |
เลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี กับการแข่งขันที่สูงขึ้น
รศ.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี เท่ากับไม่ได้เปลี่ยนผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้ว 2 วาระ ย่อมทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามอง และได้รับความสนใจจากนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก สังเกตได้จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันแรกที่มีจำนวนมากทั้งในส่วน นายก อบต. และ ส.อบต.
ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา คือ ในกฎหมายเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ จำนวนผู้แทนจากหมู่บ้านในตำแหน่ง ส.อบต. ลดลงเหลือคนเดียวในหมู่บ้าน ย่อมทำให้การแข่งขันสูงขึ้นเป็นธรรมดา จากเดิมที่หมู่บ้านหนึ่งอาจมี 2 ตำแหน่ง จึงทำให้ผู้สมัครจำนวนเท่าเดิม แต่ต้องชิงที่หนึ่งกัน อาจทำให้กลุ่มเดียวกัน หรือเครือข่ายเดียวกันต้องมาแข่งขันกันเองก็เป็นได้
รศ.อรทัย กล่าวต่อว่า การเลือกตั้ง อบต. อาจเป็นฐานเสียงต่อการเลือกตั้งในระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น อาจมีส่วนเชื่อมโยงต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งหลายพรรคการเมืองอาจมองเห็นโอกาสตรงนี้ แม้นักการเมืองจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้เต็มที่ก็ตาม แต่ไม่จำกัดให้ผู้ลงสมัครอาจเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองได้ด้วย
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก กำหนดอนาคต อบต. ?
รศ.อรทัย กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. ซึ่งอาจเป็นตัวตัดสินการเปลี่ยนแปลงของการเมืองถิ่นได้ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของคนกลุ่มนี้ยังน้อยอยู่ เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ และส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะไม่ได้อยู่ที่ภูมิลำเนาของตัวเอง
นอกจากนั้นความใกล้ชิด หรือผูกพันกับท้องถิ่นก็มีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะการมาศึกษาและทำงานต่างภูมิลำเนาทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนการเลือกตั้ง อบต. ในแต่ละหมู่บ้านจะต้องเกณฑ์คน เชิญชวนให้ลูกหลานกลับบ้านมาเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นคนในครอบครัว คนรู้จัก แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ความท้าทายคือจะทำให้คนรุ่นใหม่กลับไปเลือกตั้งได้อย่างไร
“ที่ผ่านมาโอกาสของการชนะเลือกตั้ง อบต. จะอยู่ที่เครือญาติ คนรู้จัก มากกว่านโยบาย ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมามองเรื่องแนวคิดและนโยบายมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นบ้านเกิดของตนเองพัฒนา จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”
รศ.อรทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าได้จัดอบรมหลักสูตรผู้ลงสมัคร นายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. และพบว่าผู้ที่สนใจสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้มีหลากหลาย ตั้งแต่อดีตผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว และที่น่าสนใจคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์เป็นนักธุรกิจในพื้นที่ ให้ความสนใจในการลงสมัครครั้งนี้ด้วย
‘นักการเมืองหญิง’ ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และอยากให้มีการสนับสนุนผู้หญิงเข้าไปทำหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นมากขึ้น จากข้อมูลของ The Active ที่ได้ทำการรวบรวมไว้พบว่าผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบต.ในครั้งที่ผ่านมามีเพียง 7% เท่านั้น รศ.อรทัย พบว่าจากการลงพื้นที่ตรวจประเมินรางวัลของสถาบันพระปกเกล้า นโยบายและโครงการในท้องถิ่นที่นำโดยผู้หญิงจะมีความแตกต่างจากผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาครอบครัว อาชีพ และส่งเสริมสุขภาพของคนใน อบต. นั้น ๆ
ที่มา https://www.facebook.com/theactive.net/
อ่านต่อ https://theactive.net/news/20211015-3/
และสามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/theactive.net/videos/593414201852225
19 พ.ย. 2564