เทศบาลนคร : ความสามารถในการหารายได้ท้องถิ่น

Last updated: 25 ก.ค. 2567  |  7194 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทศบาลนคร : ความสามารถในการหารายได้ท้องถิ่น

เทศบาลนคร : ความสามารถในการหารายได้ท้องถิ่น

 
          นับเป็นเวลากว่า 6 ปีที่การเลือกตั้งท้องถิ่นได้ทิ้งช่วงห่างหายกันมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนกระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และในเวลาต่อมาก็ได้มีประกาศปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่จะถึงนี้พร้อมกันทั่วประเทศ

          การเลือกตั้งเทศบาลในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่มีความน่าสนใจและน่าจับตามองไม่แพ้การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลนคร ถือเป็นสนามเลือกตั้งเทศบาลขนาดใหญ่และค่อนข้างมีการแข่งขันสูง ในช่วงนี้เราเริ่มจะเห็นหน้าตาผู้สมัครหลายท่าน ผ่านการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งอย่างกระตือรือร้น ขณะที่ประชาชนเองต่างก็เริ่มให้ความสนใจกับการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน

          ดังนั้นในวันนี้ จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาเริ่มต้นจากการสำรวจสถิติรายได้ของเทศบาลนครกันค่ะ ว่ามีสถิติหรือข้อมูลที่น่าสนใจอะไรกันบ้าง

          1. โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ประเทศไทยแบ่งโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 2 ชั้น คือ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน (Upper-Tier) และ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง (Lower - Tier)
          - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด
          - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
          นอกจากนี้ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 7,850 แห่ง โดยเทศบาลนั้นมีจำนวนถึง 2,472 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง

          2. รายได้รวมของเทศบาลนคร

             เทศบาลนครที่มีรายได้รวมสูงที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี โดยมีรายได้รวมมากถึง 2,659.73 ล้านบาท รองลงมาเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่ มีรายได้ 1,901.47 ล้านบาท และเทศบาลนครปากเกร็ด มีรายได้ 1,851.22 ล้านบาท ตามลำดับ

             ขณะที่เทศบาลนครที่มีรายได้รวมน้อยที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครสกลนคร มีรายได้ 542.98 ล้านบาท รองลงมาเป็นเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา มีรายได้ 568.61 ล้านบาท และเทศบาลนครอ้อมน้อย มีรายได้ 581.78 ล้านบาท ตามลำดับ

 

         3. รายได้จัดเก็บเองของเทศบาลนคร

         เทศบาลนครที่มีรายได้จัดเก็บเองมากที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครมาบตาพุด โดยมีรายได้ที่สามารถจัดเก็บเองมากถึง 1,170.69 ล้านบาท รองลงมาเป็นเทศบาลนครแหลมฉบัง มีรายได้ 661.22 ล้านบาท และเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ มีรายได้ 473.16 ล้านบาท ตามลำดับ

         ขณะที่เทศบาลนครที่มีรายได้จัดเก็บเองน้อยที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครสกลนคร มีรายได้ 69.01 ล้านบาท รองลงมาเป็นเทศบาลนครแม่สอด มีรายได้ 71.11 ล้านบาท และเทศบาลนครสมุทรสาคร มีรายได้ 71.18 ล้านบาท ตามลำดับ

 

          4. ความสามารถในการหารายได้

           เทศบาลนครที่มีความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครมาบตาพุด โดยมีความสามารถในการหารายได้มากถึง 66.49% รองลงมาเป็นเทศบาลนครแหลมฉบัง มีความสามารถในการหารายได้ 47.95% และเทศบาลนครเกาะสมุย มีความสามารถในการหารายได้ 39.69% ตามลำดับ

          ขณะที่เทศบาลนครที่มีความสามารถในการหารายได้น้อยที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครสมุทรสาคร โดยมีความสามารถในการหารายได้ 11.12% รองลงมาคือ เทศบาลนครตรัง และเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งมีความสามารถในการหารายได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ 11.87% และ 11.98% ตามลำดับ

          จากข้อมูลสถิติรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะสะท้อนให้เห็นว่า เทศบาลนครมีความสามารถและศักยภาพในการตอบสนองบริการสาธารณะได้มากน้อยเพียงใด นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้จากการจัดเก็บเองแล้ว ยังมีรายได้จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล และเงินที่รัฐจัดสรรให้อีกด้วย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะได้รับเงินจัดสรรในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป

          แต่ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าท้องถิ่นจะได้รับเงินจัดสรรและเงินอุดหนุนจากรัฐมากเพียงใด ก็จำเป็นต้องหันกลับมาพิจารณาถึงความสมดุลในการจัดเก็บรายได้ของตนเองด้วย เพราะรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองนั้น ย่อมหมายถึงขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะในพื้นที่และการพึ่งพารายได้จากรัฐส่วนกลางมากน้อยเพียงใด นั่นเอง

ที่มา: วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้