20 ธ.ค. เลือกตั้ง อบจ. ใครไปไม่ได้แจ้งเหตุใน 27 ธ.ค. ป้องกันถูกจำกัดสิทธิ

Last updated: 5 ต.ค. 2566  |  586 จำนวนผู้เข้าชม  | 

20 ธ.ค. เลือกตั้ง อบจ. ใครไปไม่ได้แจ้งเหตุใน 27 ธ.ค. ป้องกันถูกจำกัดสิทธิ

20 ธ.ค. เลือกตั้ง อบจ. ใครไปไม่ได้แจ้งเหตุใน 27 ธ.ค. ป้องกันถูกจำกัดสิทธิ

       ย้ำขั้นตอนเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค. นี้ ทำอย่างไรไม่ให้เป็นบัตรเสีย ส่วนใครไปไม่ได้ต้องแจ้งเหตุจำเป็นใน 27 ธ.ค. เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิ 

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ซึ่งในคราวนี้เป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) โดยการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. และปิดหีบในเวลา 17.00 น.
 
ทั้งนี้ ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งจึงอยากย้ำเตือนประชาชนผู้มีสิทธิตรวจสอบรายชื่อของตนเองว่าต้องไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งใด เพราะในครั้งนี้มีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้จำกัดจำนวนผู้มีสิทธิต่อหน่วยเลือกตั้งลงเหลือ 600 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะดูจากเอกสารที่ส่งไปตามทะเบียนบ้านแล้ว สามารถเข้ามาตรวจสอบผ่านทางออนไลน์ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ด้วยการกรอกเลขประจำตัวประชาชนเพื่อตรวจสอบได้ด้วย (ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) ส่วนผู้สมัครนายก อบจ. ในแต่ละจังหวัดมีใครบ้าง สามารถค้นหาเป็นรายจังหวัดได้เช่นกัน (ค้นหาผู้สมัครนายก อบจ.)

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง (วันที่ 13-19 ธ.ค. 2563) หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (วันที่ 21-27 ธ.ค. 2563) สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ มีดังนี้

1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
6. ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
7. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

        กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

ส่วนใครที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.                                                                    
2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน                                                                                                                        
3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไทยรัฐออนไลน์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้