สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
 
“มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน ดังนี้
(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน
(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน”
 

          “สภาผู้แทนราษฎร” เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่อยู่ในหมวดที่ 7 รัฐสภา ประกอบด้วย มาตรา 83 ถึงมาตรา 106 โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ส่วนองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละ 1 คนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละ 1 คะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งจะส่งผู้สมัครคนเดียวกันลงสมัครรับเลือกตั้งเกิน 1 เขตมิได้

     สำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 บัญชี โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในพรรคเดียวกัน โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

    ในส่วนของ “อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร” นั้น โดยหลักแล้วเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ใน 5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้แต่ทำได้เพียงปีละครั้ง รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ใน 10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ โดยอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4  ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 , ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า , https://goo.gl/aVpLg8

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้