การกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง?

Last updated: 5 ต.ค. 2566  |  20306 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง?

การกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง?

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
นักวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
#ความคิดเห็นส่วนตัว

หลักการสำคัญพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งมีอยู่ 2 ประการ คือ จะต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรี (free) และต้องเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม (fair) แต่หลายครั้งในอดีต เรามักได้ยินข่าวการทุจริตการเลือกตั้งอยู่เสมอ ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะเป็นการอธิบายว่าการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้งตามกฎหมาย

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติถึงข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมไว้หลายประการ ข้อห้ามประการแรก คือ ห้ามจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 73) โดยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
  2.  ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
  3. ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
  4. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
  5. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การกระทำทั้ง 5 ข้อ นี้ ก็คือ “การซื้อเสียง” ในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง โดยที่กฎหมายยังได้บัญญัติเพิ่มเติมต่อไปว่า การกระทำข้อ 1 และ 2 ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการ ส่วนข้อ 3 นั้นไม่รวมถึงผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตนเพื่อหาเสียงแก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ

ข้อห้ามประการที่สอง คือ “ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ลงสมัครหรือไม่ส่งผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม” (มาตรา 75) ซึ่งข้อห้ามในประการนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการห้าม “ฮั้วเลือกตั้ง” กันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองนั่นเอง

ข้อห้ามประการที่สาม คือ “ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ” และห้ามกระทำเช่นนี้ “เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” (มาตรา 76) ในข้อนี้ ก็คือการห้าม “ขนคนไปลงคะแนน” นั่นเอง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ข้อห้ามประการที่สี่ คือ “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติ” (มาตรา 77) ความในข้อนี้ คือการห้ามชาวต่างชาติช่วยหาเสียงให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองพรรคใด

ข้อห้ามประการที่ห้า คือ “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง” (มาตรา 78) ข้อห้ามในข้อนี้ก็คือการห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ของตนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด อันจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยปกติหรือการช่วยเหลือดำเนินการเลือกตั้ง

ข้อห้ามประการที่หก คือ “ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนเลือกตั้ง 1 วันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง” (มาตรา 79) ซึ่งข้อนี้หมายความรวมถึงการหาเสียงทุกวิธีการ (รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการหาเสียง ดูเพิ่มเติมในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561)

ทั้งนี้ หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม มีการทุจริตเกิดขึ้น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจไต่สวนและพิจารณาแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ แก่ผู้สมัครหรือผู้ใดก็ได้ทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งบทลงโทษในแต่ละกรณีจะมีความหนักเบาแตกต่างกันไป (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  https://goo.gl/T96pYm)

การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกตัวแทนของตนเอง แต่การเลือกตั้งที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “ชอบธรรม” นั้น ต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเป็นหลักการพื้นฐาน จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้